ระบบฟิวดัลในสมัยกลาง
ระบบฟิวดัล (Feudalism) เป็นระบบการปกครองในยุโรปสมัยกลางที่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์และการดำรงชีวิตของคนในสังคม โดยเฉพาะยุโรปตะวันตกทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
กำเนิดระบบฟิวดัล
ระบบฟิวดัลมีพัฒนาการมาตั้งแต่จักรวรรดิโรมันเสื่อมอำนาจ และปรากฏชัดเจนในปลายสมัยราชวงศ์คาโรแลงเจียน (Carolingian) ของพวกแฟรงค์ เมื่อกษัตริย์เสื่อมอำนาจลงได้เกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มผู้ปกครอง ทำให้พวกเยอรมันเผ่าอื่นรุกราน ส่งผลให้ประชาชนขาดความมั่นคงและหันไปพึ่งขุนนางที่ปกครองท้องถิ่นของตนซึ่งมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการจัดตั้งกองทัพและออกกฎหมายของตนเอง ต่อมาจักรพรรดิชาร์ลมาญ (Charlemagne ค.ศ. 768-814) แห่งราชวงศ์คาโรแลงเจียนสิ้นพระชนม์ อาณาจักรของพวกแฟรงค์ถูกแบ่งแยกเป็น 3 ส่วนและมีการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างผู้ปกครองทั้งสาม ซึ่งต้องอาศัยความช่วยเหลือจากขุนนางที่มีอำนาจปกครองเขตต่างๆ ส่วนราษฎรที่อาศัยอยู่ในแต่ละเขตก็ต้องพึ่งพาขุนนางของตนด้วย ทำให้ขุนนางแต่ละเขตปกครองมีอำนาจมาก ส่วนกษัตริย์หรือประมุขของดินแดนต่างๆ ไม่มีอำนาจที่แท้จริง
ภายใต้ความสัมพันธ์ในระบบฟิวดัล
ความสัมพันธ์ภายใต้ระบบฟิวดัลเป็นระบบอุปถัมภ์ มีที่ดิน (fief) เป็นสิ่งกำหนดฐานะและความสัมพันธ์ของคนในสังคม โดยเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างลอร์ด (lord) หรือ “เจ้า” หรือผู้ให้ถือครองที่ดินกับ “ข้า” หรือ วาสซาล (vassal) หรือผู้ถือครองที่ดินว่า แต่ละฝ่ายมีพันธะหน้าที่ต่อกัน โดยเจ้าจะให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่ข้าเพื่อทำประโยชน์ในที่ดินนั้น รวมทั้งให้ความคุ้มครองดูแลเมื่อเกิดภัยสงคราม ส่วนข้าต้องสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อเจ้า รวมทั้งส่งเงินและกองทัพไปร่วมรบในสงครามด้วย ในทางปฏิบัติ กษัตริย์มีสถานะเป็น “เจ้า” ของขุนนางทั้งหลาย เนื่องจากในสมัยกลางถือว่าที่ดินทั้งหมดเป็นของกษัตริย์ ดังนั้นขุนนางที่ครอบครองดินแดนต่างๆ ในเขตของตน จึงเป็น “ข้า” ของกษัตริย์ และนำที่ดินทั้งหมดไปแบ่งให้แก่ “ข้า” ของตน คือ ขุนนางลำดับรองๆ ลงไปอีกทอดหนึ่ง ขุนนางแต่ละคนซึ่งรับที่ดินไปจะเป็นเจ้าของหน่วยปกครองหรือแมเนอร์ (manor) ของตน และมีฐานะเป็น “เจ้า” ของราษฎรที่เข้าอาศัยอยู่ในเขตปกครองของตน อนึ่ง พระซึ่งดูแลวัดในเขตปกครองต่างๆ ก็มีสถานะเป็น “ข้า” ของขุนนางด้วยเพราะวัดก็รับที่ดินจากขุนนาง ในสังคมระบบฟิวดัลยังมีทาสติดที่ดิน (serf) ซึ่งต้องทำงานในที่ดินของเจ้า และไม่สามารถเดินทางออกนอกเขตปกครองโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ยังมีพวกเสรีชนซึ่งเช่าที่ดินจากเจ้าของแมเนอร์และสามารถเดินทางออกนอกเขตแมเนอร์ได้โดยอิสระ
ระบบสังคมในสมัยฟิวดัลซึ่งรวมถึงระบบสังคม เศรษฐกิจ และการปกครอง เรียกว่าระบบแมเนอร์ (Manorialism) มีศูนย์กลางอยู่ที่แมเนอร์ของขุนนางแต่ละคน แมเนอร์แต่ละแห่งมีลักษณธคล้ายคลึงกันกล่าวคือ มีคฤหาสน์หรือปราสาทของขุนนางเป็นศูนย์กลาง มีป้อมและกำแพงล้อมรอบ ภายนอกคฤหาสน์รายล้อมด้วยหมู่บ้านขนาดเล็กของชาวนาที่เป็นข้าของขุนนาง รวมทั้งโบสถ์และพื้นที่เพาะปลูก แต่ละแมเนอร์เป็นหน่วยเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเอง ไม่จำเป็นต้องอาศัยการผลิตจากภายนอก เว้นแต่สินค้าจำเป็น เช่น เกลือ เหล็ก และน้ำมันดิบ ในระบบแมเนอร์ พวกข้าจะแบ่งผลผลิตของตนให้แก่เจ้า รวมทั้งการอุทิศแรงงานทำการเพาะปลูกในที่ดินของเจ้า ผู้ที่อาศัยอยู่ในแมเนอร์จะได้รับความคุ้มครองจากขุนนางเมื่อถูกศัตรูรุกราน เช่น สามารถหลบหนีเข้าไปอยู่ในเขตกำแพงของคฤหาสน์หรือปราสาทได้
อนึ่ง สังคมแบบฟิวดัลยังยึดถือจรรยาของอัศวินหรือวีรคติ (Chivalry) โดยฝึกหัดเด็กชายให้เเป็นอัศวินที่กล้าหาญ มีคุณธรรมและเป็นสุภาพบุรุษ ซึ่งเป็นแบบฉบับที่สุภาพบุรุษตะวันตกยึดถือต่อมา
ความเสื่อมของระบบฟิวดัล
ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 เศรษฐกิจในดินแดนยุโรปที่ซบเซาไปตั้งแต่จักรวรรดิโรมันล่มสลายเริ่มเจริญเติบโต เมืองต่างๆ ที่เคยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจได้ฟื้นตัว นอกจากนี้ยังมีเมืองศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอีกมาก โดยเฉพาะเมืองท่าและเมืองที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำ เป็นต้นว่า นครรัฐในแหลมอิตาลีซึ่งติดต่อค้าขายกับดินแดนต่างๆ รอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เกาะอังกฤษในเขตทะเลเหนือ และดินแดนแถบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ศูนย์กลางการค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือแคว้นแฟลนเดอร์ (Flander) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเบลเยียมและตอนเหนือของฝรั่งเศส แคว้นแฟลนเดอร์อยู่ติดกับชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกและมีแม่น้ำไรน์ไหลผ่าน ทำให้บริเวณนี้เป็นชุมชนทางการค้าที่สำคัญ เพราะสามารถติดต่อกับอังกฤษดินแดนเยอรมันและแถบทะเลบอลติกทางตอนเหนือได้สะดวก เมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองเหล่านี้ดึงดูดให้ผู้คนที่ทำงานอยู่ในแมเนอร์โดยเฉพาะทาสติดที่ดินย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง เพราะมีงานรองรับและยังได้สิทธิในฐานะชาวเมือง ไม่ต้องทำงานในแมเนอร์ให้แก่เจ้าของที่ดิน จึงเป็นผลให้ระบบแมเนอร์เสื่อมลง
กล่าวได้ว่า การเติบโตของเมืองต่างๆ ประกอบกับกษัตริย์ของยุโรปมีอำนาจเข้มแข็งมากขึ้นทำให้อำนาจขุนนางและระบบฟิวดัลเสื่อมไปในที่สุด
ผลกระทบของระบบฟิวดัลต่อพัฒนาการของยุโรป
ระบบฟิวดัลก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อพัฒนาการของยุโรป ทั้งด้านการเมืองและสังคม
พัฒนาการทางการเมือง ระบบฟิวดัลส่งเสริมพัฒนาการทางการเมืองของยุโรปเพราะมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการปกครองท้องถิ่นของดินแดนต่างๆ ในยุโรป การส่งเสริมให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง ทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งและมีจิตสำนึกร่วมกัน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนารัฐชาติและอุดมการณ์เสรีนิยม
พัฒนาการทางสังคม สังคมยุโรปในระบบฟิวดัลมีประชากร 2 กลุ่มใหญ่ คือผู้ปกครองหรือเจ้า และกลุ่มผู้อยู่ใต้ปกครองหรือข้า เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวในช่วงปลายสมัยฟิวดัล ได้เกิดกลุ่มพ่อค้าและสมาคมช่างฝีมือหรือสมาคมอาชีพ (Guild) ซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการขยายการค้า กลุ่มชนชั้นกลางเหล่านี้มีฐานะดี และมีบทบาทสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจของยุโรปในเวลาต่อมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น