อารยธรรมจีนโบราณ
อารยรรมจีนโบราณเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 2000 ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือราว 4000 ปีมาแล้วในเขตลุ่มแม่น้ำหวางเหอหรือแม่น้ำเหลืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน จากนั้นได้ขยายเข้าไปในเขตลุ่มแม่น้ำแยงซีทางตอนกลางของประเทศ เป็นอารยธรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น และมีอิทธพลต่อการหล่อหลอมอารยธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
1.การหล่อหลอมอารยธรรมจีน
อารยธรรมจีนเป็นอารยธรรมที่มีเอกภาพสูง ซึ่งแตกต่างจากอารยธรรมร่วมสมัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอารยธรรมอินเดียหรือเมโสโปเตเมีย เนื่องจากอารยธรรมที่พัฒนาและหล่อหลอมขึ้นภายในดินแดนของตนเองเป็นส่วนใหญ่ โดยได้รับอิทธิพลจากโลกภายนอกไม่มากนัก อารยธรรมจีนจึงมีรากฐานที่มั่นคงและมีเอกลักษณ์เฉพาะตนเอง ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการหล่อหลอมอารยธรรมจีน ได้แก่ ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และความเชื่อเกี่ยวกับวัฏจักรของราชวงศ์

ปัจจัยทางภูมิศาสตร์
ลักษณะภูมิประเทศที่โดดเดี่ยว จีนเป็นแผ่นดินที่กว้างใหญ่ พื้นที่ประกอบด้วยเทือกเขาสูงจำนวนมากที่กั้นระหว่างภาคต่างๆของจีน เช่น ระหว่างภาคตะวันตกกับภาคตะวันออก ภาคเหนือกับภาคใต้ และยังกั้นจีนจากโลกภายนอกอีกด้วย ส่วนทางด้านตะวันออกของจีนตั้งแต่เหนือจรดใต้ก็ติดต่อกับมหาสมุทรแปซิฟิก
นอกจากนี้ยังมีดินแดนต่างๆ ที่เป็นปราการล้อมรอบแผ่นดินจีนอีกชั้นหนึ่ง คือที่ราบสูงทเบต ทะเลทรายซินเกียง ทะเลทรายโกบี ดินแดนมองโกเลีย แมนจูเรีย และเกาหลี ลักษณะภูมิประเทศที่โดดเดี่ยวทำให้จีนสมัยโบราณมีโอกาสติิดต่อกับแหล่งความเจริญอื่นๆ ไม่มากนัก ชาวจีนจึงคิดค้นและพัฒนาความเจริญขั้นสูงขึ้นภายในดินแดนของตนเองเพื่อตอบสนองความต้องกการของสังคม อนึ่ง การอยู่อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางความเจริญที่พัฒนาขึ้นมาเองก็ทำให้ชาวจีนมีความภูมิใจในเชื้อชาติและอารยธรรมของตนว่าดีที่สุด จนกระทั่งมองชนชาติอื่นว่า “ป่าเถื่อน” หรือ “ด้อยกว่า” ความคิดนี้เป็นจุดอ่อนของจีนในการปรับตัวเข้าสู่โลกยุคใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 20
ภัยธรรมชาติ จีนมีเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์หลายแห่ง ที่สำคัญได้แก่ ลุ่มแม่น้ำหวางเหอทางตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงทางตอนกลางของประเทศ และลุ่มแม่น้ำฉีทางตะวันออกเฉียงใต้ เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำเหล่านี้ เป็นศูนย์กลางของประชากรและความเจริญของจีน อย่างไรก็ตาม ผู้คนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำต้องประสบภัยพิบัติในฤดูน้ำหลากด้วย ดังเช่นแม่น้ำหวางเหอซึ่งมีความยาวถึง 4600 กิโลเมตร ได้ชื่อว่า “แม่น้ำวิปโยค” เพราะคร่าชีวิตผู้คนและท่วมบ้านเรือนไร่นาเสียหายจำนวนมากทุกปี ชาวจีนได้สร้างเขื่อนและทำนบกั้นตลอด 2 ฝั่งแม่น้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนและไร่นา แต่เนื่องจากกระแสน้ำไหลแรงและเชี่ยวราก จึงต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้เขื่อนพังทลายโดยขุดคลองชลประทานขนาดยาวจำนวนมากเพื่อช่วยผันน้ำให้ได้รวดเร็ว คลองชลประทานเหล่านี้ทำประโยชน์ให้แก่ชาวจีนทั้งในฤดูน้ำหลากและฤดูแล้ง และยังใช้เป็นเส้นทางคมนาคมอีกด้วย
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า สภาพภูมิศาสตร์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้ชาวจีนพัฒนาภูมิปัญญาเพื่อเอาชนะธรรมชาติ
วัฏจักรของราชวงศ์ (Dynastic Circle) วัฏจักรของราชวงศ์ในระบอบปกครองของจีนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาอารยธรรม ตั้งแต่ประมาณปี 1500 ก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ. 1912 จีนมีกษัตริย์ราชวงศ์ต่างๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันปกครองเป็นวัฏจักรต่อเนื่อง การสถาปนาราชวงศ์ในสมัยประวัติศาสตร์เกิดจากการที่ผู้นำสามารถแก้ปัญหาของชุมชน เช่น ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาภัยแล้ง ฯลฯ และรวมอำนาจปกครองนครรัฐต่างๆซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ต่อมามีการสถาปนาราชวงศ์เซี่ย (Xia) ขึ้นหลังจากราชวงศ์เซี่ยถูกโค่นล้มมีการสถาปนาราชวงศ์ซาง (Shang) ขึ้นมาใหม่ ซึ่งนักประวัติศาสตร์ถือว่าเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ของจีน ชาวจีนเชื่อว่าผู้นำของตนนั้นได้รับอาณัติจากสวรรค์ (Mandate of Heaven) จึงยกย่องว่าเป็นโอรสแห่งสวรรค์ และยอมรับอำนาจ และความชอบธรรมของผู้นำ การยอมรับนี้ตกทอดถึงลูกหลานที่สืบทอดอำนาจต่อมาในราชวงศ์เดียวกันด้วย ต่อมาเมื่อราชวงศ์นั้นเสื่อมอำนาจลง ก็มีผู้นำคนใหม่ล้มราชวงศ์เดิม แล้วสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นแทนที่ ซึ่งก็ได้รับการยอมรับจากประชาชนตามคติความเชื่อเดิมว่าเป็นอาณัติจากสวรรค์ จึงเกิดวัฏจักรของราชวงศ์ต่อเนื่องมาหลายพันปี
วัฏจักรของราชวงศ์เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ส่งเสริมการหล่อหลอมอารยธรรมจีน เพราะทำให้เกิดการยอมรับอำนาจของผู้นำใหม่ ช่วยให้ระบอบการปกครองของจีนมั่งคั่งและต่อเนื่อง ทำให้จักรวรรดิมีอำนาจเด็ดขาดในการปกครอง สามารถเกณฑ์แรงงานและจัดเก็บภาษีเพื่อพัฒนาความเจริญและป้องกันอาณาจักร เช่น การขุดคลอง การสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม และการสร้างกำแพงเมืองจีนเพื่อป้องกันศัตรูที่รุกรานมาทางด้านเหนือ
ชาวจีนในสมัยโบราณได้พัฒนาความเจริญรุ่งเรืองด้านต่างๆ ที่เป็นรากฐานของอารยธรรมจีน ความเจริญที่สำคัญ ได้แก่ การประดิษฐ์อักษรจีน วิชาดาราศาสตร์ ปรัชญา การก่อสร้าง
อักษรจีน จีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลและมีภาษาถิ่นจำนวนมากที่แตกต่างกันตามกลุ่มประชากร ทำให้ไม่อาจติดต่อสื่อสารกันได้ และเป็นอุปสรรคต่อการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง โดยเฉพาะในสมัยโบราณ จีนปกครองในระบบนครรัฐซึ่งมีประมาณ 1800 แห่ง การประดิษฐ์อักษรจีนนับเป็นภูมิปัญญาที่ยิ่งใหญ่ เพราะส่งเสริมให้เกิดเอกภาพในสังคมจีน อักษรจีนเป็นอักษรภาพ ไม่มีพยัญชนะ อักษรแต่ละตัวมีความหมายชัดเจน ดังนั้น ชาวจีนที่พูดภาษาต่างกันก็สามารถสื่อสารตรงกันได้ด้วยตัวอักษรภาพ อักษรจีนเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาความเจริญอื่นๆ จำนวนมาก เช่น การรวมศูนย์อำนาจปกครอง การติดต่อค้าขาย การศึกษา ปรัชญา การบันทึกประวัติศาสตร์ การทำกระดาษ ฯลฯ
ความก้าวหน้าด้านดาราศาสตร์ ชาวจีนโบราณในสมัยราชวงศ์ซางได้คิดทำปฏิทินแบบจันทรคติเมื่อ 3000 กว่าปีมาแล้ว โดยการสังเกตฤดูกาล ได้แก่ ฤดูผลิ ฤดูเก็บเกี่ยว และฤดูหนาว ซึ่งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นวัฏจักร แต่ละรอบนับเป็น 1 ปี มี 365 วันซึ่งยังคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ต่อมาในสมัยราชวงศ์ฮั่น เมื่อ 444 ปีก่อนคริสต์ศักราช สามารถคำนวณได้ว่า 1 ปี มี 365 ¼ วัน นอกจากนี้ยังพบจุดดับบนดวงอาทิตย์เมื่อประมาณ 2000 ปีกมาแล้ว รวมทั้งยังประดิษฐ์กล้องดูดาวได้ตั้งแต่ต้นคริสต์ศักราช นับว่าจีนมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ไม่น้อยกว่าชนชาติอารยะอื่นๆ ที่ร่วมสมัยกัน
ปรัชญา ปรัชญาจีนไม่ได้พัฒนาจากความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตหลังความตาย แต่เป็นการค้นหาหลักธรรมเพื่อการดำรงชีวิตในโลกปัจจุบัน ก่อนที่จักรวรรดิจิ๋น (ฉิน) หรือจิ๋นซีฮ่องเต้จะสถาปนาอำนาจเมื่อปี 221 ก่อนคริสต์ศักราช จีนมีนครรัฐที่ต่างเป็นอิสระอยู่มมาก บ้านเมืองจึงเกิดสงครามแย่งชิงอำนาจกันเนืองๆ ประชาชนได้รับภัยพิบัติจากสงครามและผลกระทบอื่นๆ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ที่โดเด่นและมีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิตของชาวจีน ได้แก่ ลัทธิธรรมชาตินิยม ขงจื๊อ เต๋า และนิติธรรมนิยมหรือลัทธิฝ่าเจีย
ลัทธิธรรมชาตินิยม สำนักนี้เชื่อว่าธรรมชาติเป็นองค์ประกอบของทุกๆ สิ่งในจักรวาล หลักของธรรมชาติคือระบบคู่ (Dualism) ได้แก่ หยินและหยางซึ่งเป็นหลักของความสมดุล หยินเป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิง ความมืด และความเย็น ส่วนหยางเป็นสัญลักษณ์ของเพศชาย ความสว่าง และความร้อน กลุ่มธรรมชาตินิยมเชื่อว่าทุกอย่างในจักรวาลจะต้องมีความสมดุล ทั้งในสังคมมนุษย์และธรรมชาติ ได้แก่ หญิงและชาย มืดและสว่าง ฯลฯ ดังนั้นสิ่งใดที่ขาดความสมดุลก็จะไม่ยั่งยืน เช่น ผู้ปกครองที่เป็นทรราชก็จะไม่สามารถครองอำนาจได้
ลัทธิขงจื๊อหรือขงจื่อ เป็นหลักปรัชญาที่มีอิทธิพลต่อความคิดและแบบแผนดำเนินชีวิตของชาวจีนมากที่สุด ขงจื๊อมีชีวิตอยู่ระหว่าง 551-478 ก่อนคริสต์ศักราช คำสอนของขงจื๊อเน้นการทำหน้าที่ต่อสังคมให้ถูกต้องและความมีจริยธรรมของแต่ละคน หลักการปกครองที่เน้นความมีคุณธรรมของผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครอง และหลักจริยธรรมที่ปลูกฝังให้ทุกคนประพฤติดีและเป็นคนดี ขงจื๊อเชื่อว่าการศึกษาสอนให้คนมีจริยธรรมและคุณธรรม ดังนั้นรัฐจึงควรส่งเสริมให้คนมีการศึกษา คำสอนของขงจื๊อทำให้สังคมมีระเบียบและเกิดสันติสุข ในสมัยราชวงศ์ฮั่นจึงส่งเสริมให้ศึกษาและปฏิบัติตามหลักปรัชญาของขงจื๊อ โดยใน ค.ศ. 58 จักรวรรดิได้ออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ตั้งโรงเรียนจำนวนมาก ตั้งแต่นั้นการศึกษาจึงแพร่หลายในสังคมจีนและเป็นอารยธรรมสำคัญของสังคมจีน
กลุ่มนิติธรรมนิยม แนวคิดของกลุ่มนิติธรรมนิยมเน้นการใช้กฎหมายและกฎระเบียบควบคุมสังคม กลุ่มนี้เชื่อว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่เห็นแก่ตัวและมักเอาเปรียบผู้อื่น จึงต้องมีกฎหมายเพื่อจัดระเบียบในสังคม แนวคิดนี้แพร่หลายในช่วงประมาณ 200 ปีก่อนคริสต์ศักราชที่จีนมีการปกครองแบบนครรัฐ และมีอิทธิพลต่อแนวทางการปกครองแบบใช้อำนาจเด็ดขาดของจักรวรรดิจิ๋นซี ผู้สถาปนาราชวงศ์จิ๋นเมื่อปี 221 ก่อนคริสต์ศักราช
ลัทธิเต๋า เป็นหลักปรัชญาของเล่าขงจื๊อ ซึ่งมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 500 ปีก่อนคริสต์ศักราช คำว่า “เต๋า”แปลว่า วิถีทางแห่งธรรมชาติ ปรัชญาของลัทธิเต๋าเน้นการดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ เป็นต้นว่า การมีชีวิตที่สงบสุขคือการมีชีวิตอยู่กับธรรมชาติและหลีกหนีความวุ่นวายของสังคมเมือง โดยเฉพาะความวุ่นวายทางการเมือง ลัทธิเต๋ามีอิทธิพลต่อชาวจีนจำนวนมาก ที่สำคัญได้แก่ พวกชาวนาซึ่งมีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติอยู่แล้ว กลุ่มกวีและศิลปินซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากปรัชญาของลัทธิเต๋าในการสร้างสรรค์งานของตน
การก่อสร้าง หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงความสามารถในการก่อสร้างของชาวจีนโบราณที่โดดเด่นและยั่งยืนถึงปัจจุบันคือ กำแพงเมืองจีน กำแพงเมืองจีนสร้างขึ้นตามแนวสันเขาที่กั้นดินแดนทางตอนเหนือกับภายนอก มีความยาวประมาณ 2400 กิโลเมตร ชาวจีนสร้างกำแพงเมืองจีนเพื่อป้องกันการรุกรานของศัตรูที่มาจากทางตอนเหนือตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซางเมื่อ 3000 กว่าปีมาแล้ว จากนั้นก็มีการสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยนครรัฐต่างๆ แต่ไม่ได้เชื่อมต่อเป็นแนวเดียวกัน กระทั่งในสมัยจักรวรรดิจิ๋นซีเมื่อประมาณ 200 ปีก่อนคริสต์ศักราช จึงสามารถเชื่อมต่อกันได้ตลอด นอกจากนี้ ชาวจีนโบราณยังสามารถสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่อื่นๆ อีก เช่น พระราชวังและสุสานขนาดใหญ่ของราชวงศ์จิ๋น
กำแพงเมืองจีน สถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ของชาวจีน
กองทหารดินเผาบริเวณใกล้สุสานของจิ๋นซีฮ่องเต้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น