การพัฒนาประเทศตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) หมายถึง การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยยึดหลักความพอดี ประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภมาก และไม่เบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา
ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เกิดจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดในปี พ.ศ.2540
หลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักปรัชญาในการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติตนในแนวทางสายกลาง สำหรับประชาชนชาวไทย ท้องถิ่น ชุมชน การบริหารและการพัฒนาประเทศของรัฐบาล หลักการของเศรษบกิจพอเพียงตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณลักษณะ 3 ประการ คือ
ความพอประมาณ คือ ความพอดี ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
ความมีเหตุผล คือ ตัดสินใจว่าความพอเพียงจะอยู่ที่ระดับใด จะต้องพิจารณาอย่างมีเหตุผลและรอบคอบ
การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึง เตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เงื่อนไข
เงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความสำเร็จหรือสามารถปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างได้ผล จะต้องมีองค์ประกอบ 2 ประการดังนี้
มีความรู้ หมายถึง มีความรู้ในวิชาชีพและวิชาการต่างๆ อย่างรอบด้าน และมีความรอบคอบในการนำความรู้นั้นไปปฏิบัติ
มีคุณธรรม หมายถึง มีความซื่อสัตย์สุจริต ขยัน อดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ไม่โลภ และไม่ตระหนี่
การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนบรรลุผลสำเร็จดังนี้
รู้จักตนเอง หมายถึง การดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของการรู้จักตนเอง รู้จักพัฒนาความรู้ความสามารถของตนด้วยการศึกษาหาความรู้
พึ่งตนเองและพึ่งพาซึ่งกันและกัน หมายถึง ต้องรู้จักพึ่งตนเองและแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันด้วยตนเองก่อนเสมอ โดยใช้สติปัญญาและเหตุผล ต่อจากนั้นจึงพึ่งพาซึ่งกันและตามความจำเป็น
ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง หมายถึง ยึดทางสายกลางในการดำเนินชีวิต ไม่โลภ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ใช้จ่ายเกินฐานะหรือเกินกำลังทรัพย์ของตน
ความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาประเทศ
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพราะจะทำให้เกิดผลดีต่อประชาชน ชุมชน และสังคมประเทศชาติ ดังนี้
ความสำคัญต่อครอบครัว สมาชิกในครอบครัวดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข เพราะปฏิบัติตามหลักพออยู่ พอกิน พอใช้ ส่งผลให้ไม่ยากจน ไม่มีหนี้สิน มีเงินออม และพึ่งตนเองได้
ความสำคัญต่อชุมชน ทำให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง มีการรวมกลุ่มสร้างแรงงานและอาชีพ และนำทรัพยากรของชุมชนมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ
เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ สมาชิกในชุมชนร่วมมือกันแก้ไขปัญหา
ระดับสังคมประเทศชาติ สังคมเข้มแข็ง ผู้คนมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง สมาชิกในสังคมร่วมกันสืบทอดภูมิปัญญาและพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น