เส้นทางการติดต่อระหว่าง
โลกตะวันออกและโลกตะวันตก
การติดต่อกันระหว่างดินแดนต่างๆ ทำให้เกิดเส้นทางคมนามคมติดต่อระหว่างเอเชียและยุโรปทั้งเส้นทางบกและทางทะเล
1.เส้นทางบก ในอดีต การพัฒนาเส้นทางบกติดต่อระหว่างดินแดนต่างๆ มักเป็นเส้นทางสั้นๆ ที่เชื่อมระหว่างรัฐต่อรัฐ ส่วนการก่อสร้างถนนเพื่อติดต่อกับดินแดนที่อยู่ห่างไกลกกันมากนั้น เป็นผลจากการขยายอำนาจของจักรวรรดิต่างๆ เช่น จักรวรรดิแอสซีเรียได้สร้างถนนจำนวนมากเชื่อมติดต่อระหว่างดินแดนเมโสโปเตเมียกับอียิปต์และเอเชียไมเนอร์ เพื่อใช้ในการเดินทัพและการสื่อสาร จักรวรรดิเปอร์เซียสร้างถนนเชื่อมเมืองหลวงของตนกับชายฝั่งตะวันตกของเอเชียไมเนอร์ นอกจากนี้ยังมีถนนจำนวนมากเชื่อมระหว่างเมืองต่างๆ ตั้งแต่เอเชียไมเนอร์ จนถึงอินเดียตามเส้นทางที่พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราชยกทัพไปโจมตีเอเชีย อนึ่ง จักรวรรดิโรมันก็สร้างถนนหลวงซึ่งปูด้วยหินที่แข็งแรงเชื่อมต่อระหว่างกรุงโรมกับเมืองที่อยู่ใต้การปกครองของพวกโรมัน เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการทหารและไปรษณีย์ จนมีคำกล่าวว่า “ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงโรม”
ด้านเอเชียตะวันออก ราชวงศ์ฮั่น (202 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ. 220) ของจีนมีนโยบายส่งเสริมการติดต่อค้าขายกับดินแดนตะวันตกตามเส้นทางบก ทำให้เกิดเส้นทางการค้าระหว่างเอเชียตะวันออกกับโลกตะวันตก ซึ่งเริ่มจากนครฉางอัน (Chang-an) หรือซีอานในสุ่มแม่น้ำหวางเหอไปสู่ดินแดนตะวันตกของจีนทางด่านประตูหยก (Yu-men) ในเขตมณฑลกานซู (Gansu) ปัจจุบัน และผ่านทะเลทรายในเขตเอเชียกลางจากนั้นจะมีเส้นทางแยกลงใต้ผ่านเปอร์เซียไปสู่เอเชียไมเนอร์และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตามลำดับ เส้นทางสายนี้มีช่อว่า “เส้นทางสายแพรไหม” (Silk Route) เนื่องจากสินค้าหลักที่พ่อค้าบรรทุกกองคาราวานอูฐรอนแรมไปตามเส้นทางในเขตทะเลทราย คือ ผ้าไหม และสินค้าฟุ่มเฟือยราคาแพงอื่นๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการของชนชั้นสูงในจักรวรรดิโรมันและยุโรป เช่น หยก และผลงานศิลปะที่ประดับด้วยวัตถุล้ำค่า
2.เส้นทางทะเล การติดต่อทางทะเลระหว่างดินแดนต่างๆ เริ่มมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากศูนย์กลางความเจริญของดินแดนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำและทะเล ทำให้มีโอกาสติดต่อกับโลกภายนอกได้ง่ายกว่าดินแดนที่อยู่ลึกเข้าไป เหตุผลของการติดต่อมีทั้งจุดหมายทางการค้าและการขยายดินแดน
ในระยะแรก เส้นทางติดต่อทางทะเลมักอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่ห่างไกลจากกันมากนัก เช่น การติดต่อระหว่างอียิปต์กับเมืองท่าในเขตทะเลแดง การติดต่อระหว่างอียิปต์ ฟีนิเชีย เมโสโปเตเมีย เอเชียไมเนอร์ เกาะครีต กรีก แหลมอิตาลี และเมืองท่าต่างๆ ของแอฟริกาเหนือในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และการติดต่อระหว่างเมโสโปเตเมียกับอินเดียในเส้นทางระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับทะเลอาหรับ
ต่อมาเมื่อดินแดนต่างๆ มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการเดินเรือเป็นต้นว่า พวกฟีนิเชียสามารถต่อเรือขนาดใหญ่ที่บรรทุกได้จำนวนมาก และจีนสามารถประดิษฐ์เข็มทิศและต่อเรือสำเภาขนาดใหญ่ที่บรรทุกคนได้มากกว่า 500 คน ทำให้นักเดินเรือสามารถเดินทางไปยังดินแดนที่ห่างไกลมากขึ้น ดังเช่น พวกอาหรับสามารถต่อเรือเดินสมุทรเดินทางไปถึงยุโรปและขยายอิทธิพลทางการค้าและศาสนาอิสลามไปถึงหมู่เกาะชวา ส่วนจีนก็สามารถเปิดเส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างเอเชียตะวันออกกับตะวันออกกลางในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 เมื่อเจิ้งเหอ ขุนนางขันทีได้รับพระราชโองการจากจักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 – 1644) ให้นำกองเรือรบขนาดใหญ่จำนวนมากเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีพร้อมกับสำรวจดินแดนและเส้นทางการค้าสายใต้รวม 7 ครั้ง โดยเดินทางไปไกลถึงปากทางเข้าทะเลแดงและชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น