วันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2556

สมเด็จพระสุริโยทัย

สมเด็จพระสุริโยทัย

พระราชประวัติ
พระราชประวัติของสมเด็จพระสุริโยทัยยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์สุโขทัย ซึ่งดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในขณะที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาต่อจากขุนวรวงศาธิราชได้เพียง ๗ เดือน เมื่อ พ.ศ.๒๐๙๑ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระมหาอุปราชาบุเรงนองยกกองทัพพม่า-รามัญเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก โดยผ่านมาทางด้านด่านพระเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรีและตั้งค่ายล้อมพระนคร การศึกครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือถึงวีรกรรมของ สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ซึ่งไสช้างพระที่นั่งเข้าขวางพระเจ้าแปรด้วยเกรงว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราชสวามี จะเป็นอันตราย จนถูกพระแสงของ้าวฟันพระอังสาขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง เพื่อปกป้องพระราชสวามีไว้ เมื่อสงครามยุติลง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงปลงพระศพของพระนางและสถาปนาสถานที่ปลงพระศพขึ้นเป็นวัด ขนาน - นามว่า "วัดสบสวรรค์" (หรือวัดสวนหลวงสบสวรรค์)
พระราชโอรสและพระราชธิดา
สมเด็จพระสุริโยทัย มีพระราชโอรส-พระราชธิดา ๕ พระองค์ ซึ่งน่าจะเรียงลำดับดังนี้
พระราเมศวร พระราชโอรสองค์โต เป็นพระมหาอุปราช ถูกจับเป็นองค์ประกันแก่พม่า และสิ้นพระชนม์ระหว่างไปหงสาวดี
พระบรมดิลก พระราชธิดา เสียพระชนม์ชีพพร้อมพระมารดาในสงครามคราวเสียพระสุริโยทัย
พระสวัสดิราช พระราชธิดา ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระวิสุทธิกษัตรีย์ อัครมเหสีในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและเป็นพระชนนีของพระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ
พระมหินทร์ พระราชโอรสองค์รอง ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระมหินทราธิราช กษัตริย์องค์สุดท้ายก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ ใน ปี พ.ศ.๒๑๑๒
พระเทพกษัตรี พระราชธิดา ภายหลังถูกส่งตัวถวายแด่พระไชยเชษฐาแห่งอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งระหว่างการเดินทางถึงชายแดนสยามประเทศพระนางถูกพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์แห่งพม่าทำการชิงตัวไปยังกรุงหงสาวดี สาเหตุที่พระเจ้าบุเรงนองชิงตัวไปก็เพราะพระเทพกษัตรีเป็นหน่อเนื้อของพระสุริโยทัย
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้มีการก่อสร้าง พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ที่บริเวณทุ่งมะขามหย่อง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นพระอนุสาวรีย์ประดิษฐานพระรูปสมเด็จพระสุริโยทัย
วีรกษัตรีแห่งกรุงศรีอยุธยา

ครั้งรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๐๓๔ ถึงพ.ศ. ๒๐๗๒ เป็นสมัยที่ราชอาณาจักร อโยธยามีเจ้าเหนือหัวครองราชย์ ถึง ๒ พระองค์ หนึ่งนั้นคือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งทรงครองราชย์อยู่ ราชธานีฝ่ายใต้ อันได้แก่ กรุง อโยธยาศรีรามเทพนคร ส่วนอีกหนึ่งนั้นเป็นพระอนุชาในสมเด็จพระรามาธิบดี ทรงพระนามว่า พระอาทิตยา ครองราชย์อยู่ยังเมืองพิษณุโลกอันเป็นราชธานีฝ่ายเหนือ
พระสุริโยไท ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือแห่งราชวงศ์พระร่วง ได้อภิเษกสมรสกับพระเยาวราช จากราชวงศ์สุพรรณภูมิ คือพระเฑียรราชา โอรสขององค์อุปราชพระอาทิตยา วงศ์ กับพระสนม
เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ สิ้น พระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๐๗๒ พระอาทิตยาวงศ์ ได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร เชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์เสด็จย้ายจากพิษณุโลกไปประทับ ณ กรุงศรีอยุธยาเมืองหลวง รวมถึงพระเฑียรราชา และพระสุริโยไทซึ่งมีพระโอรส พระธิดาทั้งสิ้น ๕ พระองค์ ประทับอยู่ ณ วังชัย ดำรงอิสริยยศเป็นพระเยาวราช
ครั้นสมเด็จพระบรมราชาหน่อ พุทธางกูร สิ้นพระชนม์ด้วยโรคไข้ทรพิษ พระรัฏฐาธิราชกุมารพระโอรส วัย ๕ พรรษา อันประสูติจากพระอัครชายาวัย ๑๗ พรรษา เป็นผู้ขึ้นครองราชย์แทนพระไชยราชาผู้ซึ่งดำรงพระยศเป็นพระอุปราช ระหว่างนั้นบ้านเมืองถูกบริหารโดยขุนนางทุจริตคือพระยายมราชบิดาของอัครชายา พระไชยราชาจึงให้สำเร็จโทษพระรัฏฐาธิราชตามราชประเพณีโบราณ และขึ้นครองราชย์แทน ออกรบปราบปรามหัวเมืองอยู่ตลอดจึงทรงแต่งตั้งพระเฑียรราชาขึ้น เป็นพระอุปราชว่าราชการแทนพระองค์ที่กรุง อโยธยา
ต่อมาพระมเหสีของพระไชยราชา คือท้าวศรีสุดาจันทร์ได้ลักลอบมีความสัมพันธ์กับขุนชินราช ผู้ดูแลหอพระ สมคบลอบวางยาพิษปลงพระชนม์พระไชยราชา พระยอดฟ้า โอรสพระไชยราชา จึงได้ขึ้นครองราชย์แทนขณะที่มีพระชนม์ ๑๐ พรรษา แต่ต่อมาก็ถูกท้าวศรีสุดาจันทร์ปลงพระชนม์อีกองค์หนึ่ง แล้วสถาปนา ขุนชินราชขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า ขุน วรวงศา
ระหว่างนั้นพระเฑียรราชาได้ทรงผนวชเพื่อเลี่ยงภัย ส่วนพระสุริโยไทครองพระองค์อยู่ในวัง โดยมีขุนพิเรนทรเทพ ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเส่หานอกราชการ หลวงศรียศ คุ้มกันภัยให้ และต่อมาก็ได้ร่วมกันปลงพระชนม์ ขุนวรวงศา และท้าวศรีสุดาจันทร์ เสียบหัวประจานไว้ที่วัดแร้ง อัญเชิญพระเฑียรราชาให้ลาสิกขาบทขึ้นครองราชย์แทน ทรงพระนามว่าพระมหาจักรพรรดิ ครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๙๑-๒๑๑๑
ในปี ๒๐๙๑ นี่เอง ที่ทางพม่านำโดยกษัตริย์นามว่า พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ได้รวบรวม กำลังแผ่ขยายอำนาจรุกรานไทย เดินทัพมายังอยุธยา เกิดเป็นสงครามยุทธหัตถี เหตุการณ์ ตรงนี้เองที่ได้กล่าวถึงพระสุริโยไทว่าทรงปลอมพระองค์เป็นชายเข้าสู้รบกับพม่าจนสิ้นพระชนม์บนคอช้าง
และตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็สันนิษฐานกันว่าในสงครามครานั้นพระองค์มิได้สิ้นพระชนม์เพียงพระองค์เดียว หากแต่มีพระราชบุตรีอีกพระองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์ในครั้งนั้นด้วย
จากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ แต่งขึ้นในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๓ ได้กล่าวถึงศึกระหว่างพระมหาจักรพรรดิกับ พระเจ้าหงสาวดี และการสูญเสียพระสุริโยไท ไว้ว่า
"เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้า เสด็จออกไปรับศึกหงสานั้น สมเด็จพระองค์มเหสี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรี เสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วย และเมื่อได้รับศึกหงสานั้น ทัพหน้าแตกมาปะทัพหลวงเป็นโกลาหลใหญ่ และสมเด็จพระองค์มเหสีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้น ได้รบด้วยข้าศึกถึงสิ้นชนม์กับคอช้างนั้น"
พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ได้บรรยายการต่อสู้ครั้งนั้นไว้โดยพิสดารว่า
         "สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ขับพระคชาธารเข้าชนช้างกองหน้าพระเจ้าหงสาวดี พระคชาธารเสียทีให้หลังข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรได้ท้ายข้าศึกเช่นนั้นก็ขับพระคชาธารตามไล่ช้างพระมหาจักรพรรดิ พระสุริโยไทเห็นพระราชสามีเสียทีไม่พ้นมือข้าศึก ทรงพระกตัญญูภาพ ก็ขับพระคชาธารพลายทรงสุริยกษัตริย์สะอึกออกรับพระคชาธารพระเจ้าแปรได้ล่างแบกถนัด พระคชาธารพระสุริโยไทแหงนหงายเสียทีพระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวต้องพระอังสะพระสุริโยไทขาดกระทั่งถึงราวพระถันประเทศ พระราเมศวร กับพระมหินทราธิราช ก็ขับพระคชาธารถลันเข้าแก้พระราชมารดาได้ทันที พอพระชนนีสิ้นพระ ชนม์กับคอช้าง พระพี่น้องทั้งสองพระองค์ถอยรอรับข้าศึก กันพระศพสมเด็จพระราชมารดาเข้าพระนครได้ โยธาชาวพระนครแตกพ่ายข้าศึกรี้พลตายเป็นอันมาก
            สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าจึงให้เชิญพระศพพระสุริโยไท ผู้เป็นพระอัคร มเหสีมาไว้สวนหลวง" พระศพสมเด็จพระสุริโยไทได้รับการเชิญไปประดิษฐานไว้ที่สวนหลวงตรงที่สร้างวังหลัง ต่อมาเมื่อเสร็จสงครามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงได้ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสุริโยไทที่ในสวนหลวงตรงต่อเขตวัดสบสวรรค์ แล้วสร้างพระอารามขึ้นทรงพระเมรุ มีพระเจดีย์ใหญ่ เรียกว่าวัดสวนหลวงสบสวรรค์ หรือบางแห่งเรียก วัดศพสวรรค์
            เรื่องต่อจากนั้นก็มีว่า ทัพพม่าไม่สามารถจะตีหักเอากรุงศรีอยุธยาได้เพราะฝ่ายไทยได้เปรียบในที่มั่น และหัวเมืองฝ่ายไทยยังมีกำลังมาก โดยเฉพาะทัพของพระมหาธรรมราชาซึ่งเสด็จไปครองพิษณุโลก ได้ยกมาช่วยตีกระหนาบ พระเจ้าหงสาวดีจึงโปรดให้เลิกทัพกลับไปทางเหนือ แต่จากเอกสารพม่าที่จดจากปากคำให้การเชลยไทยคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ ในชื่อว่า คำ ให้การชาวกรุงเก่าบันทึกความทรงจำหลังเหตุการณ์ประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ เล่าว่าศึกครั้งนี้ พระมหาจักรพรรดิได้รับคำท้าทายที่จะประลองยุทธหัตถีกับกษัตริย์พม่า แต่เมื่อถึงวันนัด หมายกลับประชวร พระบรมดิลกพระราชธิดาพระองค์หนึ่งจึงรับอาสาฉลองพระองค์ปลอม เป็นชายขึ้นช้างทำยุทธหัตถีเสียทีถูกพระแสงของ้าวกษัตริย์พม่าสิ้นพระชนม์ นับเป็นหลักฐานแห่งการบันทึกประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว พระนามของพระนางที่ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่าง ๆ ซึ่งบันทึกหลังเหตุการณ์ประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ กล่าวถึงเรื่องราวในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชสมบัติโดยมีพระนางอยู่ในตำแหน่งมเหสี พระราชพงศาวดารมากล่าวพระนามอีกครั้งเมื่อพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ยกทัพล้อมกรุงศรีอยุธยาหลังการเสวยราชสมบัติได้ ๗ เดือน โดยครั้งนั้นพระนางได้ป้องกันพระราชสวามีไม่ให้ได้รับอันตรายโดยไสช้างขวางกั้นพระราชสวามีจากแม่ทัพพม่า จนสิ้นพระชนม์บนคอช้าง
            นอกจากนี้ยังมีการบันทึกถึงรายละเอียดปลีกย่อยว่าสมเด็จพระสุริโยไททรงแต่งพระองค์เป็นชายอย่างพระมหาอุปราช ทรงเครื่องสำหรับราชณรงค์ เสด็จทรงช้าง "พลายทรงสุริยกษัตริย์" สูงหกศอกเป็นพระคชาธาร ซึ่งวิเคราะห์แล้วถือเป็นช้างที่สูงมากในขบวนช้างแม่ทัพฝ่ายไทย เพราะช้างทรงของพระมหาจักรพรรดิคือ พลายแก้วจักรพรรดิ สูงหกศอกคืบห้านิ้ว ช้างทรงพระราเมศวร คือพลายมงคลจักรพาฬ สูงห้าศอกคืบสิบนิ้ว และช้างทรงพระมหินทราธิราช คือพลายพิมานจักรพรรดิ สูงห้าศอกคืบแปดนิ้ว ส่วนช้างของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ คือช้างต้นพลายมงคลทวีปนั้นสูงถึงเจ็ดศอก และช้างของพระเจ้าแปรผู้ประหารพระนาง คือพลายเทวนาคพินายสูงหกศอกคืบเจ็ดนิ้ว สูงกว่าช้างทรงพระสุริโยไทคืบเจ็ดนิ้วเต็ม ร่องรอยแห่งอดีตกาลสั่งสมผ่านบันทึกประวัติศาสตร์ แม้นไม่อาจสัมผัสได้ด้วยสายตา แต่วีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของวีรสตรีผู้ทรงนาม "พระสุริโยไท" จะยังคงประจักษ์อยู่ในหัวใจ อนุชนรุ่นหลังมิรู้ลืมเลือน
 พระราชานุสาวรีย์สุริโยทัย
เป็นพระอนุสาวรีย์ประดิษฐานพระรูปสมเด็จพระสุริโยทัย วีรสตรีไทยสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ที่บริเวณทุ่งมะขามหย่อง
ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ประมาณ 250 ไร่
เจดีย์พระศรีสุริโยทัย
เจดีย์พระศรีสุริโยทัย อยู่ในเกาะเมืองด้านทิศตะวันตก อยู่ติดกับสำนักงานโบราณคดี
และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 3 ถนนอู่ทอง อ. พระนครศรีอยุธยา จ. อยุธยา
รูปและเนื้อหาบางส่วน : http://www.royjaithai.com/phrasrisuriyotai.php

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช





พระราชประวัติ
    สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยกรุงธนบุรี เสด็จพระราช สมภพ ณ วันที่ 17 เมษายน พุทธศักราช 2277 ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมโกศพระองค์ทรงเป็นสามัญชน กำเนิดในตระกูลแต้ มีพระนามเดิมว่า สิน พระราชบิดาเป็นจีนชื่อ ไหฮอง เดินทางจากประเทศจีนมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย แล้วได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ นางนกเอี้ยง มีหลักฐาน บันทึกว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเคยเป็นพ่อค้าเกวียนผู้ทรงปัญญาเฉลียวฉลาด และมีความสามารถด้าน กฎหมายเป็นพิเศษ ได้ช่วยกรมการเมืองชำระถ้อยความของราษฎรทางภาคเหนืออยู่เนืองๆ เนื่องจากได้ทำ ความดีมีความชอบต่อแผ่นดิน จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าเมืองตากในเวลาต่อมา

      ในปีพุทธศักราช 2308 - 2309 พระยาตากได้นำไพร่พลลงมาสมทบเพื่อป้องกันกรุงศรีอยุธยาระหว่าง ที่พม่าล้อมกรุงอยู่ ได้ทำการต่อสู้จนเป็นที่เลื่องลือว่า เป็นแม่ทัพที่เข้มแข็งมากที่สุดคนหนึ่ง และได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ในวันที่ 4 มกราคม พุทธศักราช 2310 (ก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยา ให้แก่พม่าประมาณ3 เดือน) พระยาตากได้รวบรวมกำลังตีฝ่าวงล้อม ของพม่าไปตั้งมั่น เพื่อที่จะกลับ มากู้เอกราชต่อไป


      จากหลักฐานตามพระราชพงศาวดาร พระยาตากได้รวบรวมไพร่พลประมาณ 500 คน มุ่งไปทาง ฝั่งทะเลทางทิศตะวันออก ระหว่างเส้นทางที่ผ่านไปนั้นได้ปะทะกับกองกำลังของพม่าหลายครั้ง แต่ก็สามารถ ตีฝ่าไปได้ทุกครั้ง และสามารถรวบรวมไพร่พลตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2310 พม่ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ เจ้าเมืองใหญ่ๆพากันตั้งตัวเป็นเจ้าและควบคุมหัวเมืองใกล้เคียง ไว้ในอำนาจ หลังจากพระยาตากยึดเมืองจันทบุรีได้ ก็ได้ประกาศตั้งตัวเป็นอิสระ และจัดตั้งกองทัพขึ้นที่นี่ โดยมีผู้คนสมัครใจเข้ามาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนายสุดจินดาซึ่งต่อมาได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่หนึ่ง

      หลังฤดูมรสุมในเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2310 พระยาตากได้ยกกองทัพเรือออกจากจันทบุรีล่องมา ตามฝั่งทะเลในอ่าวไทย จนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ต่อสู้จนยึดกรุงธนบุรีคืนจากพม่าได้ ต่อจากนั้น ได้ยกกองทัพเรือต่อไปถึงกรุงศรีอยุธยา เข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้น เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2310 และสามารถกอบกู้เอกราชให้ชาติไทยได้เป็นผลสำเร็จ โดยใช้เวลาเพียง 7 เดือนนับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา ให้กับพม่า หลังจากนั้น ได้ทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เนื่องจากทรงเห็นว่ามีชัยภูมิดี ประกอบกับ กรุงศรีอยุธยาเสียหายหนัก จนยากแก่การบูรณะ ให้เหมือนเดิม ต่อมาในปีพุทธศักราช 2311 ได้ทรงปราบดา ภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชาที่ 4" แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า "พระเจ้าตากสิน" ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการทำศึกสงครามอยู่เกือบตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อรวบรวมแผ่นดิน ให้เป็นปึกแผ่น และขับไล่พม่าออกจากราชอาณาจักร ถึงแม้ว่าบ้านเมืองจะอยู่ในภาวะสงครามเป็นส่วนใหญ่ แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ยังทรงมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูประเทศในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม ได้มีการติดต่อค้าขายกับประเทศต่างๆ เช่น จีน อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ได้โปรดให้มีการ สร้างถนนและขุดคลอง เพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคม นอกจากนั้นยังทรงส่งเสริมทางด้านการศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรม รวมทั้งการศึกษาในด้านต่างๆ ของประชาชนอีกด้วย

      หลังจากครองราชย์ได้ประมาณ 15 ปี ได้มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นเหตุให้รัชสมัยของพระองค์ต้อง สิ้นสุดลง สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325 ขณะที่มีพระชนมายุได้ 48 ปี ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่ง ราชวงศ์จักรี และได้ทรงย้ายราชธานีมาฝั่งกรุงเทพมหานคร



      เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อแผ่นดินไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะได้ ทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี (ซึ่งตรงกับวันที่ทรงปราบ ดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์) เป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรียังมีมติให้ถวาย พระราชสมัญญานามว่า"สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"

ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งแต่ พุทธศักราช 2310 ไปจนถึง พุทธศักราช 2325
ได้มีการทำศึกสงครามเกือบตลอดเพื่อรวบรวม ป้องกัน และขยายพระราชอาณาเขต
สำหรับเหตุการณ์ที่สำคัญๆ อาจจะสรุปได้ดังนี้
พุทธศักราช 2310
การเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2
การประกาศอิสรภาพหลังจากที่รบชนะพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น
การสถาปนากรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรเป็นเมืองหลวง
พม่ายกกองทัพมาตีไทยที่บางกุ้ง
พุทธศักราช 2311
การเถลิงถวัลยราชสมบัติของสมเด็จพระเจ้าตากสิน
การยกกองทัพขึ้นไปตีกลุ่มเมืองพิษณุโลก
กลุ่มพระฝางยกกองทัพลงมาตีกลุ่มเมืองพิษณุโลก
การยกกองทัพขึ้นไปตีกลุ่มเมืองพิมาย
พุทธศักราช 2312
กรุงศรีสัตนาคนหุตแต่งเจ้าหน่อเมืองนำเครื่องราชบรรณาการมาขอเป็นเมืองขึ้น
การยกกองทัพขึ้นไปตีเขมร
การยกกองทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราช
พุทธศักราช 2313
การยกกองทัพขึ้นไปตีกลุ่มเมืองสวางคบุรี
พม่ายกกองทัพลงมาตีเมืองสวรรคโลก
การยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 1
พุทธศักราช 2314
การสร้างกำแพงเมืองกรุงธนบุรี
การยกกองทัพไปตีเขมร
พุทธศักราช 2315
พม่ายกกองทัพมาตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 1
พุทธศักราช 2316
การสักเลก (ไพร่หลวง ไพร่สม และเลกหัวเมือง)
พม่ายกกองทัพมาตีเมืองพิชัย ครั้งที่ 2
พุทธศักราช 2317
การยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ครั้งที่ 2
พม่ายกกองทัพมาตีบางแก้ว (แขวงเมืองราชบุรี)
พุทธศักราช 2318
พม่ายกกองทัพมาตีเมืองพิษณุโลก
พุทธศักราช 2319
กบฎเมืองนางรอง และการยกกองทัพไปปราบหัวเมืองลุ่มแม่น้ำโขง
พระเจ้าตากทรงเริ่มการเจริญวิปัสสนากัมมัฎฐาน
พุทธศักราช 2320
การสถาปนาเจ้าพระยาจักรีขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก
พุทธศักราช 2321
กรุงศรีสัตนาคนหุตแต่งทัพมารบกับพระวอที่หนองบัวลำภูและที่ดอนมดแดง
พุทธศักราช 2322
การยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเวียงจันทน์
การอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากร พระแก้วมรกตและพระบางมาสู่กรุงธนบุรี
พุทธศักราช 2323
การจลาจลวุ่นวายในเขมร
กบฎวุ่นวายในกรุงธนบุรี
พุทธศักราช 2324
การยกกองทัพขึ้นไปตีเขมร
ความวุ่นวายภายในกรุงธนบุรี
กบฎพระยาสรรค์
สงครามกลางเมืองระหว่างพระยาสรรค์และพระยาสุริยอภัย
พุทธศักราช 2325
การพิจารณาปัญหาเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสิน
การสิ้นสุดของสมัยกรุงธนบุรี


สมเด็จพระเอกาทศรถ

สมเด็จพระเอกาทศรถ.jpg

สมเด็จพระเอกาทศรถทรงเป็นวีรกษัตริย์ที่ชาวพิษณุโลกรู้จัก และกล่าวถึงด้วยความจงรักภักดียิ่ง พระองค์ทรงเคียงคู่กับพระนเรศวรมหาราช ในพระราชพงศาวดาร มักจะกล่าวถึงสองพระองค์ว่า

พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวสองพระองค์อยู่เสมอ เมื่อมีการตั้งค่ายทหารทางฝั่งตะวันตกเป็นค่ายใหญ่ ที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพภาคที่ ๓ เรียกค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทางฝั่งตะวันออกเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการช่วยรบที่ ๓ เรียกค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อันแสดงถึงความมีใจผูกพันจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เป็นอย่างยิ่ง 


สมเด็จพระเอกาทศรถทรงเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒๐ แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรงเป็นพระโอรสองค์น้อยของสมเด็จพระมหาธรรมธิราช และพระวิสุทธิกษัตรี ประสูตรเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๔ ที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลก ทรงมีพระชันษาอ่อนกว่าสมเด็จพระนเรศวร ๖ ปี ในปี พ.ศ. ๒๑๐๖ พระเจ้าบุเรงนองยกกองทัพมาตีอยุธยาโดยยกมาทางสุโขทัยและเข้าตีเมืองพิษณุโลกได้นั้น ได้นำเอาพระมหาธรรมราชาธิราช พระยาสวรรคโลก พระยาพิชัยเข้าร่วมกองทัพพม่ายกไปตีกรุงศรีอยุธยา และในที่สุดทาง กรุงศรีอยุธยาต้องยอมแพ้ในสงครามช้างเผือก แต่ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าเล่าว่าเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชายอมแพ้พระเจ้าบุเรงนองนั้น ได้นำเอาสมเด็จพระนเรศวร และพระสุพรรณกัลยาลงไปกรุงศีอยุธยาพร้อมกับสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชด้วยแล้วจึงให้พระเอกาทศรถพระโอรสองค์น้อยอยู่รักษาเมืองพิษณุโลกและต่อมาในปี พ.ศ. ๒๑๑๒ เมื่อพระเจ้าบุเรงนองได้กรุงศรีอยุธยาแล้ว ได้ตั้งสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเป็นผู้ครองกรุงศรีอยุธยา ในครั้งนั้นสมเด็จพระเอกาทศรถได้รับการแต่งตั้งเป็นสมเด็จพระมหาอุปราช ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๑๓๔ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชสวรรคต บรรดาข้าราชการทั้งปวง จะยกสมเด็จพระเอกาทศรถขึ้นครองราชสมบัติ แต่พระองค์ไม่ทรงยินยอม อ้างว่าพระเชษฐายังมีชีวิตอยู่ที่เมืองหงสาวดี พระเอกาทศรถยังคงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชอยู่อย่างเดิม แต่บังคับบัญชาสิทธิขาดราชการแผ่นดินทั่วไป ส่วนในหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดไม่ได้กล่าวถึงตอนพระองค์รักษาเมืองพิษณุโลก กล่าวถึงเฉพาะการขึ้นรักษาการพระนคร หลังพระราชบิดาเสด็จสวรรคตในตำแหน่งพระมหาอุปราช ด้วยเหตุผลเดียวกันว่าที่ไม่กระทำพิธีราชาภิเศกนั้นด้วยพระองค์รักใคร่พระเชษฐายิ่งนักจึงว่าราชการงานกลุ่มทั้งปวงแทนและรักษาราชธานีเขตขัณฑ์ไว้ท่าพระเชษฐาธิราช ซึ่งหนังสือทั้งสองเล่มมีข้อความต่างจากพงศาวดารไทยทั้งปวง และยังเล่าความที่พิศดารต่างไปจากพงศาวดารไทยอีกคือ เรื่องสมเด็จพระนเรศวรหนีจากกรุงหงสาวดีแล้วถูกพม่าตามตีต้องถอยลงมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองสุพรรณบุรี ความรู้ถึงกรุงศรีอยุธยาสมเด็จพระเอกาทศรถจึงยกกองทัพมาช่วยพระเชษฐาถึงสุพรรณบุรี ทั้งสองพระองค์ได้โสมนัส ทรงพระยินดียิ่งนักพระเอกาทศรถจึงกราบลงกับพระบาทพระยา พระเชษฐานั้นก็สวมกอดเอาทันใจ ทั้งสององค์ปรีเปรมเกษมศรี สมเด็จพระเอกาทศรถทรงอาสาเข้าทำการรบกับพม่า แต่สมเด็จพระเชษฐาทรงตรัสบอกว่าแม่ทัพฝ่ายพม่านั้นมีความสามารถสูงพระองค์จะเข้าต่อกรกับพม่าเอง แล้วให้สมเด็จพระเอกาทศรถนั้นเป็นกองหนุน ครั้งนั้นนับเป็นศึกครั้งแรกที่สมเด็จพระเอกาทศรถได้ทำการสู้รบและทรงมีชัยไล่ทัพพม่ากลับไปได้ 


จากสงครามครั้งนั้นสมเด็จพระเอกาทศรถก็เสด็จเข้าร่วมทำสงครามเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระเชษฐาตลอด ในปี ๒๑๑๔ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปครองเมืองพิษณุโลก และเสด็จลงมาเยี่ยมพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา คราวนั้นพระยาจีนจันตุ ขุนนางเขมรที่เข้ามาสวามิภักดิ์ต่อไทย แล้วต่อมาเอาใจออกห่าง ลอบลงเรือสำเภาจะหนีออกทะเลกลับไปยังกัมพูชา สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถจึงทรงเร่งลงเรือเร็วไปตามทันพระยาจีนจันตุที่ปากน้ำเจ้าพระยา พระยาจีนจันตุหันหัวเรือเข้ามาสู้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จออกไปยืนที่หัวเรือทรงพระแสงปืนต่อสู้กับข้าศึกโดยมิยอมหลบ จึงถูกพระยาจีนจันตุ ยิงปืนมาถูกรางพระแสงปืนที่ทรงอยู่แตกกระจายไป สมเด็จพระเอกาทศรถทรงห่วงใยในพระเชษฐายิ่งนัก และด้วยความกล้าหาญได้เร่งเรือทรงของพระองค์ เข้าบังคับเรือของสมเด็จพระนเรศวรไว้ เป็นการเอาพระชนม์ชีพเข้าปกป้องพระเชษฐาครั้งสำคัญ


หลังจากการสู้รบกับพระยาจีนจันตุแล้ว สงครามใหญ่ๆ ที่พม่ายกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๒๑๓๓ ทั้งสองพระองค์เข้าร่วมทำสงครามคู่กันมา และในคราวสงครามยุทธหัตถี ในปี พ.ศ. ๒๑๓๕ สมเด็จพระเอกาทศรถได้ทรงกระทำยุทธหัตถีกับมังจาปะโร เจ้าเมืองแปร และทรงสามารถฟันแม่ทัพพม่าสิ้นชีวิตบนคอช้างได้ เช่นเดียวกับพระเชษฐา 


สมเด็จพระเอกาทศรถ นอกจากจะมีความสามารถความกล้าหาญแล้ว ทรงมีน้ำพระทัยเยือกเย็นสุขุมคัมภีรภาพ จะเห็นได้จากเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรแต่งตั้งพระรามเดโชชาวเชียงใหม่ ที่รับราชการมีความดีความชอบขึ้นไปครองเมืองเชียงแสน ต่อมาเจ้าเมืองพะเยา เมืองแพร่ เมืองลอ เมืองน่าน เมืองฝาง ซึ่งเคยขึ้นต่อเมืองเชียงใหม่ ได้หันมาเข้ากับพระรามเดโชไม่ยอมขึ้นต่อเมืองเชียงใหม่ซ้ำจะรวมกันโจมตีเมืองเงชียงใหม่ จนทำให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ไม่กล้ายกกองทัพไปสมทบกองทัพกรุงศรีอยุธยาไปตีเมืองตองอู เมือยกทัพกลับจากตีเมืองตองอูสมเด็จพระนเรศวรยกทัพลงไปที่เมืองสุพรรณบุรี แล้วตรัสให้สมเด็จพระเอกาทศรถยกกองทัพขึ้นไปว่าเจ้าเมืองทั้งหลายให้ยินยอมอยู่ใต้อำนาจของเจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่เมื่อเสด็จขึ้นไปถึงเมืองเถินก็ได้มีพระราชโองการก็ได้มีเจ้าเมืองเหนือมาเฝ้า แต่เจ้าเมืองเชียงใหม่ยงไม่เชื่อมั่นในพระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระเอกาทศรถจึงมิได้ลงมาเฝ้าซ้ำยังให้กองทัพซุ่มโจมตีกองทัพพระรามเดโชที่จะยกมาเฝ้าสมเด็จพระเอกาทศรถความทราบถึงพระองค์ก็มิได้ทรงพิโรธ เหล่าแม่ทัพนายกองกราบบังคมทูลให้เสด็จกลับไม่ให้ช่วยเหลือเจ้าเมืองเชียงใหม่ต่อไป แต่พระองค์เกรงจะเสียพระเกียรติยศพระเชษฐา ทรงอดกลั้นดำเนินการให้เจ้าเมืองเหนือทั้งหลายยอมอ่อนน้อมต่อเมืองเชียงใหม่


เมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลตั้งทัพหลวงอยู่ที่เมืองราชบุรี สมเด็จพระเอกาทศรถได้แยกทางเสด็จประพาสทางชลมารคถึงเมืองพิษณุโลกในท้องที่ต่างหลายตำบล ในครั้งนั้นเสือตัวใหญ่เข้ามาทำร้ายคนพิษณุโลกพระองค์ได้เสด็จประทับช้างพระที่นั่งบัญชาการปราบเสือได้สำเร็จและได้ทรงโปรดเกล้าทองนพคุณเครื่องราชูปโภคของพระองค์ทำเป็นทองประทาศี จากนั้นได้เสด็จไปปิดทองทาศีพระพุทธชินราชจนเสร็จสมบูรณ์นับว่าพระองค์ทรงมีพระทัยผูกพันกับเมืองพิษณุโลกอันเป็นดินแดนมาตุภูมิของพระองค์เป็นอย่างมาก


ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๑๔๘ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์เสด็จยกกองทัพไปตีตองอูของพม่าไปเสด็จรวมพลที่เชียงใหม่ก่อนจากนั้นสมเด็จพระนเรศวรจึงยกทัพไปเมืองหาง ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จไปทางเมืองฝาง แต่พอถึงเมืองหางสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประชวรหนักและเสด็จสวรรคต สมเด็จพระเอกาทศรถเมื่อทรงทราบข่างก็ทรงเสด็จไปเฝ้าที่เมืองหางทันทีทรงโศการ่ำรักพระบรมเชษฐาเป็นที่โศกสลดแก้แม่ทัพนายกองที่ได้เห็นยิ่งนัก 


ครั้นเมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถขึ้นครองราชสมบัตินั้นทรงมีพระชนม์ได้ ๔๔ พรรษาเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๒๑๕๖ ครองราชสมบัติอยู่ ๘ ปี พระราชโอรสของพระองค์คือเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ได้ครองราชสมบัติสืบต่อมา

ที่มา http://th.wikipedia.org


การนับและการเทียบศักราชในประวัติศาสตร์ไทย

การนับและการเทียบศักราชในประวัติศาสตร์ไทย

1.การนับศักราช ในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยเราจะพบว่ามีการใช้ศักราชหลายแบบ ดังนั้น เพื่อใหห้สามารถศึกษาประวัติศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง เราจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการนับศักราชแบบต่างๆ ดังนี้
พุทธศักราช (พ.ศ.) เป็นศักราชทางพระพุทธศาสนา นิยมใช้กันในหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเป็ฯศาสนาประจำชาติ สำหรับประเทศไทยได้เริ่มใช้พุทธศักราชมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นแบบอย่างของทางราชการตั้งแต่ พ.ศ. 2455 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
มหาศักราช (ม.ศ.) เป็นศักราชที่พระเจ้ากนิษกะกษัตริย์อินเดียทางตอนเหนือมีพระราชดำริขึ้น จากนั้นจึงแพร่หลายไปทั่วอินเดียและประเทศที่ได้รับอิทธิพลทางอารยธรรมอินเดีย สำหรับประเทศไทยได้รับมหาศักราชผ่านมาทางขอมหรือเขมร ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 สำหรับการเทียบมหาศักราชเป็นพุทธศักราช ให้บวกด้วย 621
จุลศักราช (จ.ศ.) เป็นศักราชที่กษัตริย์ของพม่าสมัยอาณาจักรพุกามทรงมีพระราชดำริขึ้นภายหลังพุทธศักราช 1181 ปี จากนั้นได้แพร่หลายเข้ามาโดยผ่านทางอาณษจักรล้านนา ซึ่งจะนิยมใช้กันมากในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทย ไม่ว่าจะเป็นสมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ตอนต้น และล้านนา สำหรับการเทียบจุลศักราชเป็นพุทธศักราช ให้บวกด้วย 1181
รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.) เป็นศักราชที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้บัญญัติขึ้น โดยเริ่มใช้ในช่วงกลางรัชสมัยของพระองค์ ดังปรากฏอยู่ในเอกสารราชการ และเลิกใช้ ร.ศ. ในต้นสมัยรัชกาลที่ 6 โดยเริ่มนับปีที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี คือ พ.ศ. 2325 เป็น ร.ศ. 1 สำหรับการเทียบรัตนโกสินทร์ศกเป็นพุทธศักราช ให้บวกด้วย 2325
2.การเทียบศักราช ศักราชแบบต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น สามารถนำมาเปรียบเทียบให้เป็ฯศํกราชแบบเดียวกัน ดังต่อไปนี้
หลักเกณฑ์ฺการเทียบศักราช
ม.ศ. + 621 = พ.ศ.       พ.ศ. – 621 = ม.ศ.
จ.ศ. + 1181 = พ.ศ.     พ.ศ. – 1181 = จ.ศ.
ร.ศ. + 2325 = พ.ศ.     พ.ศ. – 2325 = ร.ศ.

ระบบฟิวดัลในสมัยกลาง

ระบบฟิวดัลในสมัยกลาง

ระบบฟิวดัล (Feudalism) เป็นระบบการปกครองในยุโรปสมัยกลางที่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและมีอิทธิพลต่อความสัมพันธ์และการดำรงชีวิตของคนในสังคม โดยเฉพาะยุโรปตะวันตกทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
กำเนิดระบบฟิวดัล
ระบบฟิวดัลมีพัฒนาการมาตั้งแต่จักรวรรดิโรมันเสื่อมอำนาจ และปรากฏชัดเจนในปลายสมัยราชวงศ์คาโรแลงเจียน (Carolingian) ของพวกแฟรงค์ เมื่อกษัตริย์เสื่อมอำนาจลงได้เกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มผู้ปกครอง ทำให้พวกเยอรมันเผ่าอื่นรุกราน ส่งผลให้ประชาชนขาดความมั่นคงและหันไปพึ่งขุนนางที่ปกครองท้องถิ่นของตนซึ่งมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการจัดตั้งกองทัพและออกกฎหมายของตนเอง ต่อมาจักรพรรดิชาร์ลมาญ (Charlemagne ค.ศ. 768-814) แห่งราชวงศ์คาโรแลงเจียนสิ้นพระชนม์ อาณาจักรของพวกแฟรงค์ถูกแบ่งแยกเป็น 3 ส่วนและมีการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างผู้ปกครองทั้งสาม ซึ่งต้องอาศัยความช่วยเหลือจากขุนนางที่มีอำนาจปกครองเขตต่างๆ ส่วนราษฎรที่อาศัยอยู่ในแต่ละเขตก็ต้องพึ่งพาขุนนางของตนด้วย ทำให้ขุนนางแต่ละเขตปกครองมีอำนาจมาก ส่วนกษัตริย์หรือประมุขของดินแดนต่างๆ ไม่มีอำนาจที่แท้จริง
ดเด้จิตรกรรมอัศวินโรแลนด์ สาบานตนจงรักภักดีต่อจักรพรรดิชาร์ลมาญ
ภายใต้ความสัมพันธ์ในระบบฟิวดัล
ความสัมพันธ์ภายใต้ระบบฟิวดัลเป็นระบบอุปถัมภ์ มีที่ดิน (fief) เป็นสิ่งกำหนดฐานะและความสัมพันธ์ของคนในสังคม โดยเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างลอร์ด (lord) หรือ “เจ้า” หรือผู้ให้ถือครองที่ดินกับ “ข้า” หรือ วาสซาล (vassal) หรือผู้ถือครองที่ดินว่า แต่ละฝ่ายมีพันธะหน้าที่ต่อกัน โดยเจ้าจะให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแก่ข้าเพื่อทำประโยชน์ในที่ดินนั้น รวมทั้งให้ความคุ้มครองดูแลเมื่อเกิดภัยสงคราม ส่วนข้าต้องสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อเจ้า รวมทั้งส่งเงินและกองทัพไปร่วมรบในสงครามด้วย ในทางปฏิบัติ กษัตริย์มีสถานะเป็น “เจ้า” ของขุนนางทั้งหลาย เนื่องจากในสมัยกลางถือว่าที่ดินทั้งหมดเป็นของกษัตริย์ ดังนั้นขุนนางที่ครอบครองดินแดนต่างๆ ในเขตของตน จึงเป็น “ข้า” ของกษัตริย์ และนำที่ดินทั้งหมดไปแบ่งให้แก่ “ข้า” ของตน คือ ขุนนางลำดับรองๆ ลงไปอีกทอดหนึ่ง ขุนนางแต่ละคนซึ่งรับที่ดินไปจะเป็นเจ้าของหน่วยปกครองหรือแมเนอร์ (manor) ของตน และมีฐานะเป็น “เจ้า” ของราษฎรที่เข้าอาศัยอยู่ในเขตปกครองของตน อนึ่ง พระซึ่งดูแลวัดในเขตปกครองต่างๆ ก็มีสถานะเป็น “ข้า” ของขุนนางด้วยเพราะวัดก็รับที่ดินจากขุนนาง ในสังคมระบบฟิวดัลยังมีทาสติดที่ดิน (serf) ซึ่งต้องทำงานในที่ดินของเจ้า และไม่สามารถเดินทางออกนอกเขตปกครองโดยไม่ได้รับอนุญาต นอกจากนี้ยังมีพวกเสรีชนซึ่งเช่าที่ดินจากเจ้าของแมเนอร์และสามารถเดินทางออกนอกเขตแมเนอร์ได้โดยอิสระ
image.aspสภาพสังคมในสมัยฟิวดัล
ระบบสังคมในสมัยฟิวดัลซึ่งรวมถึงระบบสังคม เศรษฐกิจ และการปกครอง เรียกว่าระบบแมเนอร์ (Manorialism) มีศูนย์กลางอยู่ที่แมเนอร์ของขุนนางแต่ละคน แมเนอร์แต่ละแห่งมีลักษณธคล้ายคลึงกันกล่าวคือ มีคฤหาสน์หรือปราสาทของขุนนางเป็นศูนย์กลาง มีป้อมและกำแพงล้อมรอบ ภายนอกคฤหาสน์รายล้อมด้วยหมู่บ้านขนาดเล็กของชาวนาที่เป็นข้าของขุนนาง รวมทั้งโบสถ์และพื้นที่เพาะปลูก แต่ละแมเนอร์เป็นหน่วยเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเอง ไม่จำเป็นต้องอาศัยการผลิตจากภายนอก เว้นแต่สินค้าจำเป็น เช่น เกลือ เหล็ก และน้ำมันดิบ ในระบบแมเนอร์ พวกข้าจะแบ่งผลผลิตของตนให้แก่เจ้า รวมทั้งการอุทิศแรงงานทำการเพาะปลูกในที่ดินของเจ้า ผู้ที่อาศัยอยู่ในแมเนอร์จะได้รับความคุ้มครองจากขุนนางเมื่อถูกศัตรูรุกราน เช่น สามารถหลบหนีเข้าไปอยู่ในเขตกำแพงของคฤหาสน์หรือปราสาทได้
อนึ่ง สังคมแบบฟิวดัลยังยึดถือจรรยาของอัศวินหรือวีรคติ (Chivalry) โดยฝึกหัดเด็กชายให้เเป็นอัศวินที่กล้าหาญ มีคุณธรรมและเป็นสุภาพบุรุษ ซึ่งเป็นแบบฉบับที่สุภาพบุรุษตะวันตกยึดถือต่อมา
ความเสื่อมของระบบฟิวดัล
ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 เศรษฐกิจในดินแดนยุโรปที่ซบเซาไปตั้งแต่จักรวรรดิโรมันล่มสลายเริ่มเจริญเติบโต เมืองต่างๆ ที่เคยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจได้ฟื้นตัว นอกจากนี้ยังมีเมืองศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรมเกิดขึ้นอีกมาก โดยเฉพาะเมืองท่าและเมืองที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำ เป็นต้นว่า นครรัฐในแหลมอิตาลีซึ่งติดต่อค้าขายกับดินแดนต่างๆ รอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เกาะอังกฤษในเขตทะเลเหนือ และดินแดนแถบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ศูนย์กลางการค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือแคว้นแฟลนเดอร์ (Flander) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเบลเยียมและตอนเหนือของฝรั่งเศส แคว้นแฟลนเดอร์อยู่ติดกับชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกและมีแม่น้ำไรน์ไหลผ่าน ทำให้บริเวณนี้เป็นชุมชนทางการค้าที่สำคัญ เพราะสามารถติดต่อกับอังกฤษดินแดนเยอรมันและแถบทะเลบอลติกทางตอนเหนือได้สะดวก เมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองเหล่านี้ดึงดูดให้ผู้คนที่ทำงานอยู่ในแมเนอร์โดยเฉพาะทาสติดที่ดินย้ายเข้าไปอยู่ในเมือง เพราะมีงานรองรับและยังได้สิทธิในฐานะชาวเมือง ไม่ต้องทำงานในแมเนอร์ให้แก่เจ้าของที่ดิน จึงเป็นผลให้ระบบแมเนอร์เสื่อมลง
กล่าวได้ว่า การเติบโตของเมืองต่างๆ ประกอบกับกษัตริย์ของยุโรปมีอำนาจเข้มแข็งมากขึ้นทำให้อำนาจขุนนางและระบบฟิวดัลเสื่อมไปในที่สุด
ผลกระทบของระบบฟิวดัลต่อพัฒนาการของยุโรป
ระบบฟิวดัลก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อพัฒนาการของยุโรป ทั้งด้านการเมืองและสังคม
พัฒนาการทางการเมือง ระบบฟิวดัลส่งเสริมพัฒนาการทางการเมืองของยุโรปเพราะมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการปกครองท้องถิ่นของดินแดนต่างๆ ในยุโรป การส่งเสริมให้ท้องถิ่นปกครองตนเอง ทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็งและมีจิตสำนึกร่วมกัน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนารัฐชาติและอุดมการณ์เสรีนิยม
พัฒนาการทางสังคม สังคมยุโรปในระบบฟิวดัลมีประชากร 2 กลุ่มใหญ่ คือผู้ปกครองหรือเจ้า และกลุ่มผู้อยู่ใต้ปกครองหรือข้า เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวในช่วงปลายสมัยฟิวดัล ได้เกิดกลุ่มพ่อค้าและสมาคมช่างฝีมือหรือสมาคมอาชีพ (Guild) ซึ่งเป็นชนชั้นกลางที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการขยายการค้า กลุ่มชนชั้นกลางเหล่านี้มีฐานะดี และมีบทบาทสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจของยุโรปในเวลาต่อมา

การพัฒนาประเทศตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง



การพัฒนาประเทศตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) หมายถึง การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยยึดหลักความพอดี ประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภมาก และไม่เบียดเบียนผู้อื่น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา
ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เกิดจากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจที่เกิดในปี พ.ศ.2540
11
หลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักปรัชญาในการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติตนในแนวทางสายกลาง สำหรับประชาชนชาวไทย ท้องถิ่น ชุมชน การบริหารและการพัฒนาประเทศของรัฐบาล หลักการของเศรษบกิจพอเพียงตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณลักษณะ 3 ประการ คือ
ความพอประมาณ คือ ความพอดี ไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น
ความมีเหตุผล คือ ตัดสินใจว่าความพอเพียงจะอยู่ที่ระดับใด จะต้องพิจารณาอย่างมีเหตุผลและรอบคอบ
การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี หมายถึง เตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เงื่อนไข
เงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความสำเร็จหรือสามารถปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างได้ผล จะต้องมีองค์ประกอบ 2 ประการดังนี้
มีความรู้ หมายถึง มีความรู้ในวิชาชีพและวิชาการต่างๆ อย่างรอบด้าน และมีความรอบคอบในการนำความรู้นั้นไปปฏิบัติ
มีคุณธรรม หมายถึง มีความซื่อสัตย์สุจริต ขยัน อดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ไม่โลภ และไม่ตระหนี่
ecoเป้าหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่อบุคคล
การนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนบรรลุผลสำเร็จดังนี้
รู้จักตนเอง หมายถึง การดำเนินชีวิตอยู่บนพื้นฐานของการรู้จักตนเอง รู้จักพัฒนาความรู้ความสามารถของตนด้วยการศึกษาหาความรู้
พึ่งตนเองและพึ่งพาซึ่งกันและกัน หมายถึง ต้องรู้จักพึ่งตนเองและแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันด้วยตนเองก่อนเสมอ โดยใช้สติปัญญาและเหตุผล ต่อจากนั้นจึงพึ่งพาซึ่งกันและตามความจำเป็น
ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง หมายถึง ยึดทางสายกลางในการดำเนินชีวิต ไม่โลภ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ใช้จ่ายเกินฐานะหรือเกินกำลังทรัพย์ของตน
33
ความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาประเทศ
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพราะจะทำให้เกิดผลดีต่อประชาชน ชุมชน และสังคมประเทศชาติ ดังนี้
ความสำคัญต่อครอบครัว สมาชิกในครอบครัวดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข เพราะปฏิบัติตามหลักพออยู่ พอกิน พอใช้ ส่งผลให้ไม่ยากจน ไม่มีหนี้สิน มีเงินออม และพึ่งตนเองได้
22
ความสำคัญต่อชุมชน ทำให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง มีการรวมกลุ่มสร้างแรงงานและอาชีพ และนำทรัพยากรของชุมชนมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ
เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ สมาชิกในชุมชนร่วมมือกันแก้ไขปัญหา
ระดับสังคมประเทศชาติ สังคมเข้มแข็ง ผู้คนมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง สมาชิกในสังคมร่วมกันสืบทอดภูมิปัญญาและพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

เส้นทางการติดต่อระหว่าง โลกตะวันออกและโลกตะวันตก

เส้นทางการติดต่อระหว่าง

โลกตะวันออกและโลกตะวันตก

การติดต่อกันระหว่างดินแดนต่างๆ ทำให้เกิดเส้นทางคมนามคมติดต่อระหว่างเอเชียและยุโรปทั้งเส้นทางบกและทางทะเล
1.เส้นทางบก ในอดีต การพัฒนาเส้นทางบกติดต่อระหว่างดินแดนต่างๆ มักเป็นเส้นทางสั้นๆ ที่เชื่อมระหว่างรัฐต่อรัฐ ส่วนการก่อสร้างถนนเพื่อติดต่อกับดินแดนที่อยู่ห่างไกลกกันมากนั้น เป็นผลจากการขยายอำนาจของจักรวรรดิต่างๆ เช่น จักรวรรดิแอสซีเรียได้สร้างถนนจำนวนมากเชื่อมติดต่อระหว่างดินแดนเมโสโปเตเมียกับอียิปต์และเอเชียไมเนอร์ เพื่อใช้ในการเดินทัพและการสื่อสาร จักรวรรดิเปอร์เซียสร้างถนนเชื่อมเมืองหลวงของตนกับชายฝั่งตะวันตกของเอเชียไมเนอร์ นอกจากนี้ยังมีถนนจำนวนมากเชื่อมระหว่างเมืองต่างๆ ตั้งแต่เอเชียไมเนอร์ จนถึงอินเดียตามเส้นทางที่พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์มหาราชยกทัพไปโจมตีเอเชีย อนึ่ง จักรวรรดิโรมันก็สร้างถนนหลวงซึ่งปูด้วยหินที่แข็งแรงเชื่อมต่อระหว่างกรุงโรมกับเมืองที่อยู่ใต้การปกครองของพวกโรมัน เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการทหารและไปรษณีย์ จนมีคำกล่าวว่า “ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงโรม”
ด้านเอเชียตะวันออก ราชวงศ์ฮั่น (202 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ค.ศ. 220) ของจีนมีนโยบายส่งเสริมการติดต่อค้าขายกับดินแดนตะวันตกตามเส้นทางบก ทำให้เกิดเส้นทางการค้าระหว่างเอเชียตะวันออกกับโลกตะวันตก ซึ่งเริ่มจากนครฉางอัน (Chang-an) หรือซีอานในสุ่มแม่น้ำหวางเหอไปสู่ดินแดนตะวันตกของจีนทางด่านประตูหยก (Yu-men) ในเขตมณฑลกานซู (Gansu) ปัจจุบัน และผ่านทะเลทรายในเขตเอเชียกลางจากนั้นจะมีเส้นทางแยกลงใต้ผ่านเปอร์เซียไปสู่เอเชียไมเนอร์และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตามลำดับ เส้นทางสายนี้มีช่อว่า “เส้นทางสายแพรไหม” (Silk Route) เนื่องจากสินค้าหลักที่พ่อค้าบรรทุกกองคาราวานอูฐรอนแรมไปตามเส้นทางในเขตทะเลทราย คือ ผ้าไหม และสินค้าฟุ่มเฟือยราคาแพงอื่นๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการของชนชั้นสูงในจักรวรรดิโรมันและยุโรป เช่น หยก และผลงานศิลปะที่ประดับด้วยวัตถุล้ำค่า
The Great Silk Road Map
2.เส้นทางทะเล การติดต่อทางทะเลระหว่างดินแดนต่างๆ เริ่มมาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องจากศูนย์กลางความเจริญของดินแดนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำและทะเล ทำให้มีโอกาสติดต่อกับโลกภายนอกได้ง่ายกว่าดินแดนที่อยู่ลึกเข้าไป เหตุผลของการติดต่อมีทั้งจุดหมายทางการค้าและการขยายดินแดน
ในระยะแรก เส้นทางติดต่อทางทะเลมักอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่ห่างไกลจากกันมากนัก เช่น การติดต่อระหว่างอียิปต์กับเมืองท่าในเขตทะเลแดง การติดต่อระหว่างอียิปต์ ฟีนิเชีย เมโสโปเตเมีย เอเชียไมเนอร์ เกาะครีต กรีก แหลมอิตาลี และเมืองท่าต่างๆ ของแอฟริกาเหนือในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และการติดต่อระหว่างเมโสโปเตเมียกับอินเดียในเส้นทางระหว่างอ่าวเปอร์เซียกับทะเลอาหรับ
ต่อมาเมื่อดินแดนต่างๆ มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการเดินเรือเป็นต้นว่า พวกฟีนิเชียสามารถต่อเรือขนาดใหญ่ที่บรรทุกได้จำนวนมาก และจีนสามารถประดิษฐ์เข็มทิศและต่อเรือสำเภาขนาดใหญ่ที่บรรทุกคนได้มากกว่า 500 คน ทำให้นักเดินเรือสามารถเดินทางไปยังดินแดนที่ห่างไกลมากขึ้น ดังเช่น พวกอาหรับสามารถต่อเรือเดินสมุทรเดินทางไปถึงยุโรปและขยายอิทธิพลทางการค้าและศาสนาอิสลามไปถึงหมู่เกาะชวา ส่วนจีนก็สามารถเปิดเส้นทางการค้าทางทะเลระหว่างเอเชียตะวันออกกับตะวันออกกลางในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 เมื่อเจิ้งเหอ ขุนนางขันทีได้รับพระราชโองการจากจักรพรรดิหย่งเล่อแห่งราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 – 1644) ให้นำกองเรือรบขนาดใหญ่จำนวนมากเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีพร้อมกับสำรวจดินแดนและเส้นทางการค้าสายใต้รวม 7 ครั้ง โดยเดินทางไปไกลถึงปากทางเข้าทะเลแดงและชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก